วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

วอล์ท ดิสนี่ย์



วอล์ท ดิสนี่ย์


ประวัติ
ตลอดเวลา 43 ปีในอาชีพของดิสนี่ย์ เขาเป็นผู้พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ให้ทันสมัยมากขึ้น เป็นผู้ริเริ่มการสร้างสรรค์ ผลงานที่มีจินตนาการสูง ทำให้ได้ผลงานที่คนทั้งโลกประทับใจไม่รู้ลืม โดยดิสนี่ยได้รับรางวัลออสการ์ไปถึง48รางวัล และ รางวัลเอมมี่ อีก7รางวัล
วอล์ท ดิสนี่ย ( วอลเตอร์ เอเลียส ดิสนี่ย์ )ผู้ให้กำเนิด มิคกี้ เมาส์ และเป็นผู้ก่อตั้งสวนสนุกดังระดับโลกอย่าง ดิสนี่ย์ เวิร์ลด์ เกิดเมื่อ 5 ธันวาคม 1901 ที่ชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ เติบโตในครอบครัวชาวนาในมิสซูรี่ ดิสนี่ย์เริ่มสนใจในการวาดรูปเมื่ออายุ 7 ปี และสนใจในการเรียนวาดรูปและถ่ายรูปเมื่ออยู่ที่แม็คคินเลย์ ไฮสคูล
ในปี1918 ดิสนี่ย์ก็ได้ เข้าร่วมกับหน่วยกาชาติ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 พอหลังจากสงครามโลกครั้งที่1สงบ ดิสนี่ย์ก็กลับไปยังแคนซัส ซิตี้ ที่ๆเขาเริ่มทำงานด้านการเขียนการ์ตูนประกอบโฆษณาที่นี่ ในปี1920 ดิสนี่ย์ได้ออกแบบ ตัวการ์ตูนที่เป็นแบบฉบับของตัวเองและ เรียนรู้วิธีที่จะทำให้ตัวการ์ตูนนั้นเคลื่อนไหวได้
ในเดือนสิงหาคมปี 1923 ดิสนี่ย์ก็ไปที่ฮอลลิวู้ดเพื่อก่อตั้งสตูดิโอที่นั่น และในปี1928 ดิสนี่ย์ได้สร้าง มิคกี้ เมาส์ และ ปรากฎครั้งแรกในหนังการ์ตูนเงียบที่ชื่อว่าPlane Crazy แต่ว่า ก่อนที่การ์ตูนเรื่องนี้จะออกฉายนั้น ก็เริ่มมีการนำเสียงมาใส่ในภาพยนตร์ ทำให้มิคกี้ เมาส์ก็ได้ปรากฎอยู่ในหนังการ์ตูนที่มีการใส่เสียงเรื่องแรกในโลกที่มีชื่อว่า Steamboat Willie ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 1928
ดิสนี่ย์ก็ได้พัฒนาเทคนิคการทำภาพยนตร์ต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด เทคนิคการใส่สีในภาพยนตร์อนิเมชั่นก็ถูกนำมาใช้ในหนังอย่าง Silly Symphonies ปี 1932 หนังเรื่องFlowers and Treeของ Walt ก็ได้รับรางวัลออสการ์ครั้งที่32 ในปี1937 ดิสนี่ย์ได้สร้างหนังเรื่อง The Old Mill ซึ่งเป็นหนังสั้นที่นำเอาเทคนิคของmultiplane camera มาใช้
ในวันที่ 21 ธันวาคม ปี1937 ดิสนี่ย์ก็ได้ถือกำเนิด สโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง7 ซึ่งเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเพลงเรื่องแรกของเขา และทำรายได้สูงในสมัยนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์การ์ตูนชุดยาวของดิสนี่ย์ และก็มีเรื่องอื่นๆตามมาอย่าง พิน็อคคิโอ้ แฟนตาเซีย ดัมโบ้ และ แบมบี้
ในปี1940 เบอร์แบงค์สตูดิโอของดิสนี่ย์ก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่มากกว่า 1000 คน ซึ่งประกอบด้วย ช่างศิลป์ อนิเมเตอร์ คนเขียนบท และ ฝ่ายเทคนิค ดิสนี่ย์ก็ใช้เวลาในสตูดิโอนี้เพื่อการสร้างหนังการ์ตูน ซึ่งรวมแล้ว ทั้งหมดก็มีด้วยกันถึง81เรื่องด้วยกัน และผลงานของดิสนี่ย์ก็เป็นสื่อที่ให้การเรียนรู้ได้มากพอๆกับความบันเทิง จนทำให้ได้รับรางวัลจากเรื่องTrue-Life Adventure ซึ่งมีหนังย่อยๆอย่างThe Living Desert,The Vanishing Prairie,The African Lion,และWhite Wilderness โดยหนังเหล่านี้ได้พูดถึงการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าทั่วโลก
ในปี1955 ดิสนี่ย์ก็ได้ใช้เงินถึง17ล้านดอลล่าร์ ในการสร้างอาณาจักรบันเทิงอันยิ่งใหญ่อย่าง ดิสนี่ย์แลนด์ และปัจจุบันก็มีคนจากทั่วโลกมากกว่า 250ล้านคน เข้ามาเยี่ยมชม ส่วนงานด้านโทรทัศน์ ดิสนี่ย์ก็เริ่มต้นเมื่อปี 1954 และออกอากาศรายการทีวีที่เป็นภาพสีครั้งแรก กับรายการWonderful World of Colorในปี 1961. ส่วนรายการThe Mickey Mouse Clubและ Zorroก็ได้รับความนิยมมากจากผู้คนในยุค50
ในปี1965ดิสนี่ย์ได้มองถึงปัญหาของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอเมริกัน ทำให้ดิสนี่ย์ได้วางแผนที่จะสร้าง EPCOT(Experimental Prototype Community of Tomorrow) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรร ของอุตสาหกรรมอเมริกันที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้(ถ้าใครนึกออก มันก็คือลูกกอล์ฟขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่ในดิสนี่ย์เวิร์ลด์) ดังนั้น ดิสนี่ย์จึงซื้อที่ดิน 43 ตารางไมล์ ที่เป็นศูนย์กลางของรัฐฟลอริด้า เพื่อที่จะสร้างดิสนี่ย์ เวิร์ลด์ ซึ่งเป็นทั้งสวนสนุก โรงแรม รีสอร์ท และรวมถึง EPCOT center โดย ดิสนี่ย์ เวิร์ลด์ เปิดวันที่1 ตุลาคม ปี1971 และ EPCOT center เปิด1 ตุลาคม ปี 1982
วอล์ท ดิสนี่ย์ เสียชีวิต วันที่ 15 ธันวาคม 1966 โดยผลงานที่เขาได้สร้างสรรในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ อนิเมชั่น โทรทัศน์ รวมถึงงานบันเทิงด้านอื่นๆนั้น ก็ยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า เขานั้นเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพล ในด้านบันเทิงอีกคนหนึ่งในศตวรรษที่20 เลยทีเดียว
ผลงาน
คาแร็คเตอร์ตัวการ์ตูน
มิคกี้ เมาส์ ,มินนี่ เมาส์,พลูโต,โดนัลด์ ดั๊ก,กูฟฟี่,ชิป และ เดล, วินนี่ เดอะ พูห์ ฯลฯ
ภาพยนตร์อนิเมชั่น
Plane Crazy(1928)
Steamboat Willy(1928)
Silly Symphonies(1932)
The Flower and Tree(1937)
The Old Mills True-Life Adventure ภาพยนตร์อนิเมชั่นทางโทรทัศน์
Duck'sTales
Chip& Dale:Rescue Rangers
Goof 's Troop
Tales Spin
Darkwing Duck
Buzz Lightyear ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องยาว
Snow White and the Seven Dwarfs (สโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง7)(1937) ได้รับรางวัลออสการ์เมื่อปี 1938
พิน็อคคิโอ้ (1940)
แฟนตาเซีย (1940)
ดัมโบ้ (1941)
แบมบี้ (1942)
Saludos Amigos (1943)
The Three Caballeros (1945)
Make Mine Music (1946)
Fun and Fancy Free (1947)
Melody Time (1948)
The Adventures of Ichabod and Mr. Toad (The wind in the Willows)(1949)
ซินเดอเรลล่า(1950)
Alice in Wonderland (1951)
Peter Pan (1953)
Lady and the Tramp (1955)
เจ้าหญิงนิทรา(Sleeping Beauty) (1959)
101 Dalmatians (1961)
The Sword in the Stone (1963)
The Jungle Book (1967)
The Aristocats (1970)
Robin Hood (1973)
The Many Adventures of Winnie the Pooh (1977) เป็นหนังสั้น3เรื่องต่อไปนี้ Winnie the Pooh and the Honey Tree (1966) Winnie the Pooh and the Blustery Day (1969) Winnie the Pooh and Tigger Too (1974)
The Rescuers (1977)
The Fox and the Hound (1981)
The Black Cauldron (1985)
The Great Mouse Detective (1986)
Oliver and Company (1988)
The Little Mermaid (1989)
The Rescuers Down Under (1990)
Beauty and the Beast (1991)
Aladdin (1992)
The Lion King (1994)
Pocahontas (1995)
The Hunchback of Notre Dame (1996)
Hercules (1997)
Mulan (1998)
Tarzan (1999)
แฟนตาเซีย 2000 (1999)
The Emperor's New Groove (2000)
Atlantis: The Lost Empire (2001)
Lilo & Stich (2002)
Treasure Planet(2002)
Brother Bear (2003)
Home on the Range (2004)
Chicken Little (2005)
Meet the Robinsons (2007)
Bolt (2008)
Rapunzel (2009)
The Princess and the Frog (2009)

Cartoon Focus -- สแลมดังก์ (Slamdunk)



ผู้แต่ง
ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ
ประเภท
กีฬา ตลก ดราม่า
จำนวนเล่ม
31 เล่ม(จบ)
สำนักพิมพ์
เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนต์ (ไทย)/Shueisha(ญี่ปุ่น)
ลิขสิทธิ์อนิเม
DEX
ข้อมูลอ้างอิง
http://en.wikipedia.org/slamdunkhttp://www.animenewsnetwork.com

* ชื่อตัวละครในเรื่องจะเรียกตาม นามสกุล-ชื่อ
เรื่องย่อ ซากุรางิ ฮานามิจิ หนุ่มผู้ช้ำรักในสมัยม.ต้น เมื่อถูกสาวๆหักอกนับ 50 ครั้ง เขาก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนโชโฮคุ และใช้ชีวิตไปวันๆร่วมกับพรรคพวกทั้ง 4 อย่าง มิโตะ โยเฮย์,ทาคามิยะ โนโซมิ,โนมะ จูอิจิโร่ และ โอคุสึ ยูจิ วันหนึ่งซากุรางิก็ได้รับการชักชวนจาก อาคางิ ฮารุโกะ ให้เขาร่วมชมรมบาสเก็ตบอลของโรงเรียนโชโฮคุ และ การมาของเธอ ทำให้ชีวิตรักของซากุรางิกลับมาอีกครั้ง และ ยอมตกลงเข้าชมรมบาส แต่ชีวิตนักบาสเก็ตบอลของซากุรางินั้นก็ไม่ราบรื่นซักเท่าไร นอกจากจะฝึกหนัก ไม่ให้ได้ใช้ท่าดังก์ที่ตนเองต้องการแล้ว ตัวซากุรางิเองก็ไม่ถูกกับ อาคางิ ทาเคโนริ กัปตันทีมและเป็นพี่สาวของฮารุโกะ รวมไปถึงการมาของ รุคาว่า คาเอเดะ นักบาสดาวรุ่งฝืมือดีที่ฮารุโกะนั้นแอบหลงรัก ชนิดที่ทำให้ซากุรางินั้นไม่กินเส้นกับรุคาว่าเอาซะเลย แถมยังถูกชักชวนให้ไปชมรมยูโดอีกต่างหากหลังจากจบการแข่งขันกับเรียวนัน ทีมโชโฮคุก็ได้สมาชิกใหม่(แต่หน้าเก่า)เพิ่มอีก2คน ได้แก่ มิยางิ เรียวตะ และ มิตซึอิ ฮิซาชิ ทั้งหมดก็ผนึกกำลังกัน สานฝันในการพิชิตชัยทั่วประเทศให้จงได้
Highlight การแข่งขัน
โชโฮคุ vs เรียวนัน ศึกแรก ในนัดอุ่นเครื่องกับเรียวนันนั้น ซากุรางิไม่ได้ลงสนามตั้งแต่นาทีแรก เรียวนันซึ่งนำทีมโดย เซ็นโด อากิระ และ กัปตันทีมร่างยักษ์อย่าง อุโอสึมิ จุน นั้น คุมเกมส์ได้เหนือกว่า แต่โชโฮคุก็สู้ไม่ท้อ เลยทำให้รูปเกมส์เป็นไปอย่างสูสี แต่เหตุการณ์ก็มาพลิกผัน เมื่อ อาคางิ ได้รับบาดเจ็บ ซากุรางิต้องลงเล่นนัดเปิดตัว ในสภาพที่เกร็งสุดๆ ถึงซากุรางิจะเลย์อัพชู้ตลงให้ทีมกลับมานำก็จริงในช่วงนาทีท้าย แต่สุดท้ายก็แพ้ไปอย่างหวุดหวิด ด้วยสกอร์ 87-86โชโฮคุ vs มิอุระไดในรอบคัดเลือกหาทีมที่เข้าไปเล่นรอบสุดท้ายที่อินเตอร์ไฮ ในระดับจังหวัดคานางาวะนั้น ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยรอบแรกนั้น โชโฮคุ ก็เจอกับ มิอุระได ซึ่งแน่นอน โชโฮคุ ก็เป็นฝ่ายถล่มแหลกไป 114-51 นัดนี้ รุคาว่าเล่นได้อย่างโดดเด่น ผิดกับซากุรางิ ที่ฟาลว์ครบ 5 ครั้งจนต้องออกจากสนาม แถมดันทำลูกดังก์เอาลูกบาสเขก มุราซาเมะกัปตันทีมฝ่ายตรงข้ามเสียอีกโชโฮคุ vs โชโยโชโฮคุก็สามารถเข้าชิงสาย B รอบคัดเลือก โดยเจอกับทีมแนวหน้าระดับจังหวัด และ เคยเข้ารอบสุดท้ายในการชิงชนะเลิศทั่วประเทศ อย่าง โชโย ซึ่งนำทีมโดยนักกีฬา และ โค้ช อย่าง ฟูจิมะ ในนัดนี้ก็เป็นนัดแรกที่ ซากุรางิ ได้ลงเป็นตัวจริง ทั้งสองฝ่ายก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับ ผลัดกันนำโดยซากุรางิก็โชว์ฟอร์มรีบาวด์ได้โดดเด่น ในช่วงครึ่งหลัง ขณะที่โชโฮคุนำอยู่นั้น ฟูจิมะแห่งโชโยก็ต้องออกโรงเอง และทำให้เกมส์ของโชโยไหลลื่นขึ้น เซ็นเตอร์ของโชโยอย่าง ฮานางาตะ ก็สามารถหลอกให้ซากุรางิทำฟาลว์ถึง 4 ครั้ง โชโยจึงทำแต้มทิ้งห่างออกไป แต่โชโฮคุก็ยังฮึดสู้ต่อไป โดยมิตซึอิก็โชว์ฟอร์มชู้ต 3 แต้มลงต่อเนื่องจนกระทั่งคะแนนไล่ตามทัน และเป็นรุคาว่าที่ทำให้ทีมได้ขึ้นนำ และ เขี่ยโชโยตกรอบด้วยสกอร์ 62-60 ทำให้โชโฮคุได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในรอบ 4 ทีมสุดท้ายของจังหวัด ตามหลัง ไคนัน เรียวนัน และ ทาเคซาโตะ แต่ไฮไลท์ของแมตช์นี้กลับอยู่ที่ ลูกดังก์ของซากุรางิที่ไม่ได้คะแนนเพราะกลายเป็นทำฟาลว์จนกลายเป็นฟาลว์ครบ 5 ครั้งออกจากสนามไป ชนิดที่คนดูทั้งสนามฮือฮา โชโฮคุ vs ไคนันรอบชิงชนะเลิศในรอบคัดเลือกประจำจังหวัดนัดแรก โดยเอาสองทีมที่ดีที่สุดไปแข่งทั่วประเทศ โชโฮคุก็เจอกับศึกหนักกับทีมสุดแกร่งอันดับหนึ่งในจังหวัด และ ทีมอันดับ 4 ของประเทศอย่าง สาธิตไคนันซึ่งอุดมไปด้วยนักกีฬาเก่งๆ อย่าง มากิ ชินอิจิ ซึ่งโชโฮคุรู้ตัวว่าเป็นรอง ก็เลยฮึดสู้จนไล่ตามไคนันเหลือไม่มาก โค้ชทาคาโต้ของไคนันจึงตัดสินใจส่งมิยามาสึมาประกบซากุรางิ ถึงมิยามาสึจะตัวเล็กจนเปิดโอกาสให้ซากุรางิทำแต้มได้ง่ายขึ้น แต่ ซากุรางิกลับทำพลาดเสียเอง ซึ่งส่งผลให้ไคนันสวนกลับ และ เริ่มทำคะแนนทิ้งห่างไปเรื่อยๆ โค้ชอันไซตัดสินใจเอาซากุรางิออกไปพัก และสถานการณ์เลวร้ายลง เมื่ออาคางิได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้า ซากุรางิจึงกลับลงสนามอีกครั้ง ทั้งซากุรางิ และ รุคาว่า ต่างก็สู้กันสุดชีวิต และเป็นรุคาว่าที่โชว์เดี่ยว ทำแต้มจนตีเสมอไคนันได้เมื่อจบครึ่งแรก ในครึ่งหลัง อาคางิกลับลงสนามอีกครั้ง แต่ทว่า มากิแห่งไคนันก็โชว์ฟอร์มเด่น พาทีมทำแต้มหนีห่างอีกครั้ง จนโค้ชอันไซต้องปรับแผนการเล่นใหม่ แล้วก็ใช้ได้ผล ทั้งสองทีมต่างก็ผลัดกันทำแต้มไปเรื่อย และเกมส์นี้ก็จบลงด้วยความผิดพลาดของซากุรางิ ทำให้ทีมพ่ายแพ้อย่างหวุดหวิด 88-90 หลังจบเกมส์ ซากุรางิเสียใจมาก และ โทษว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความพ่ายแพ้ของทีม เขาจึงไถ่โทษด้วยการโกนผมตัวเองโชโฮคุ vs ทาเคซาโตะในนัดที่2 โชโฮคุ ก็เป็นฝ่ายชนะ ทาเคซาโตะ ขาดลอย 120-81 ชนิดที่ซากุรางิมาสาย ไม่ได้ลงแข่ง เพราะ ดันงีบหลับขณะซ้อมชู้ตอยู่เพียงลำพังโชโฮคุ vs เรียวนันนัดชี้ชะตาระหว่าง 2 ทีม ซึ่งต่างก็แพ้ไคนันด้วยกันทั้งคู่ นัดนี้จัดเป็นการชิงตั๋วอีก 1 ใบที่เหลือ ในการเข้าสู่อินเตอร์ไฮของทั้ง2ทีม โชโฮคุมาแบบฟูลทีม ส่วนเรียวนัน นอกจากจะมี เซ็นโด้ กับ อุโอสึมิ แล้ว คราวนี้ก็ได้ ฟุคุดะ คิจโจ ลงเล่นเป็นตัวจริง โดยก่อนแข่ง โชโฮคุก็ได้รับข่าวร้าย เมื่อ อ.อันไซ โค้ชประจำทีมป่วยหนักจนต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งชัยชนะนั้นก็เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มีขวัญ กำลังใจ และ เพื่อโค้ช ในช่วงแรก ฟุคุดะก็เป็นตัวทีเด็ดช่วยให้เรียวนันนำไปก่อน แถมในขณะเดียวกันอาคางิก็กังวลกับอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าจนเล่นผิดฟอร์ม ก็เลยโดนซากุรางิโหม่งเรียกสติกลับมา เลยไล่ตามไปได้บ้าง ฟุคุดะคนเดิมก็ทำแต้มให้เรียวนันทิ้งห่างไปอีกจนจบครึ่งแรก แถมยังทำให้ซากุรางิก็แผลแตกที่ศีรษะจากการพยายามไปป้องกันลูกชู้ตของเขาอีกด้วย ในครึ่งหลัง ก็เป็นการดวลกันระหว่าง รุคาว่า กับ เซ็นโด้ ทั้งสองผลัดกันโชว์ฟอร์มจนผลออกมาสูสี และเป็นมิตซึอิที่ชู้ต 3 แต้ม ทำให้โชโฮคุพลิกกลับมานำ จากนั้นก็เป็นทีของซากุรางิที่ทำรีบาวด์ได้อย่างยอดเยี่ยมจนทำให้โชโฮคุเป็นฝ่ายคุมเกมในตลอดครึ่งหลัง แต่ทว่าเซ็นโด้ก็ไม่ยอมแพ้เลยช่วยทีมไล่ตามโชโฮคุอย่างกระชั้นชิด ในที่สุดก็เป็น โคงุเระ กับ ซากุรางิที่ช่วยกันทำแต้มตอกฝาโลงเรียวนันไป 70-66 โชโฮคุจึงผ่านเข้าไปพิชิตทั่วประเทศเป็นครั้งแรก โชโฮคุ vs โทโยทามะการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับประเทศนัดแรก โชโฮคุ ก็พบกับทีมอันดับสองของจังหวัดโอซาก้า อย่าง โทโยทามะ ดีกรีการแข่งขันคู่นี้ก็ทวีความดุเดือนขึ้นเพราะทั้งสองทีมมีการเขม่นเกทับกันก่อนแข่ง เริ่มเกมโทโยทามะ ซึ่งนำโดย มินามิ ซึโยชิ กับ คิชิโมโตะ มิโนริ ก็ช่วยกันทำแต้มนำไปก่อน และอาคางิก็ทำ"กอริลล่าดังก์"ช่วยให้ โชโฮคุ กลับสู่เกมส์จนสามารถทำแต้มจี้ติด แต่โทโยทามะก็รักษาแต้มที่นำอยู่จนจบครึ่งแรก ชนิดที่รุคาว่าก็ได้รับบาดเจ็บที่ตาจากการโดนเข่าของมินามิกระแทกไปด้วยในครึ่งหลัง โทโยทามะหันมาเล่นสไตล์ Run & Gun ที่ตนเองถนัด เลยทำแต้มหนีห่างโชโฮคุไปอีก โชโฮคุก็ยังไม่ท้อ โดยแต่ละคนต่างก็โชว์ฟอร์มเก่งกันออกมาจนแต้มเสมอกันก่อนหมดเวลา 5 นาที โทโยทามะขอเวลานอก แต่ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อผู้เล่นอย่าง มินามิ กับ คิชิโมโตะ กลับทะเลาะกันเอง ไม่เพียงแค่นั้น คิชิโมโตะก็ไปมีเรื่องกับโค้ชตัวเองอีกด้วย สถานการณ์แบบนี้ก็เลยทำให้โชโฮคุได้ใจเลยทำแต้มนำห่าง ในขณะที่มินามิที่โชว์ฟอร์มไม่ออก ชู้ตพลาดแล้วพลาดเล่า ก็เข้าไปปะทะกับรุคาว่าอีกครั้งจนได้รับบาดเจ็บ แต่เขาก็ได้รับการรักษาจากโค้ชคิตาโนะ ซึ่งเป็นโค้ชคนเก่าของทีม ทำให้มินามิได้รับกำลังใจเลยเรียกฟอร์มเก่งกลับมาได้ แต่ก็ช่วยไม่ทัน จึงจบเส้นทางที่รอบแรกต่อโชโฮคุไป 91-87โชโฮคุ vs ซังโนรอบสองในการชิงแชมป์ระดับประเทศ โชโฮคุก็เจอศึกหนักกับ เทคโนฯซังโน (ซากุรางิมักเรียกว่า ยามะโอ) ตัวแทนจังหวัดอาคิตะ ราชันย์บาสเก็ตบอลม.ปลาย ก่อนแข่งทั้งทีมโชโฮคุกดดันอย่างหนักเมื่อเจอทีมสุดแกร่งอย่างซังโน เลยเสียสมาธิในการซ้อม เพราะได้อ.อันไซมาให้กำลังใจ ทำให้ทุกคนคลายความกดดันไปได้ เริ่มเกม โชโฮคุประเดิมนำก่อนและก็รักษาแต้มที่นำเอาไว้ได้จนจบครึ่งแรก ในครึ่งหลัง ซังโนก็พิสูจน์ความเป็นเจ้าแห่งบาสฯม.ปลาย โดยซาวาคิตะ เอย์จิ ก็เป็นฝ่ายโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม ช่วยทำแต้มทิ้งห่างโชโฮคุ จนยากที่จะตามทัน ทุกคนในทีมโชโฮคุเริ่มหมดหวัง ซากุรางิก็เลยเรียกสติของทุกคนให้มีกำลังใจสู้มากขึ้นด้วยวิธีที่ไม่เหมือนใคร และก็เป็นซากุรางิที่ทำรีบาวด์พลิกเกมส์ อาคางิก็ได้สติกลับมาจากการช่วยเหลือ(?)ของอุโอสึมิที่ตามมาดูด้วย รวมไปถึงผู้เล่นอื่นๆก็ช่วยกันทำแต้ม จากที่ตามอยู่ 20 กว่าแต้ม ให้เหลือ 10 แต้มได้สำเร็จ แต่ทว่า ซาวาคิตะก็ช่วยทำแต้มหนีห่างออกไปอีก แต่ลูกชู้ตของรุคาว่า กับ รีบาวด์ของซากุรางิ ก็ช่วยให้ระยะห่างของคะแนนใกล้เข้ามาเรื่อย จนกระทั่ง ซากุรางิได้รับบาดเจ็บอันรุนแรงจากการไปกระแทกโต๊ะข้างสนามขณะที่กำลังจะไปคว้าบอล ซึ่งมีผลต่อการเป็นนักกีฬาของเขาด้วย ในขณะที่ซากุรางิกำลังจะสิ้นหวัง เขาก็นึกถึงประโยคแรกที่ฮารุโกะเข้ามาทักซากุรางิได้อย่าง "ชอบบาสเก็ตบอลมั๊ยค่ะ" ซากุรางิจึงตื่นขึ้นมาแล้วสารภาพกับฮารุโกะว่า "ชอบที่สุดเลย คราวนี้ไม่ได้โกหกนะครับ" ซากุรางิมีกำลังใจเล่นอีกครั้ง จึงลงสู่สนามทั้งๆที่ยังเจ็บอยู่ และ ในช่วงที่เวลาเหลือไม่เกิน 1 นาที ก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆดังนี้ เริ่มจาก มิตซึอิกชู้ต 3 แต้ม และ ลูกโทษลง จึงไล่มาเหลือแต้มเดียว ซากุรางิก็ส่งลูกให้รุคาว่า ให้รุคาว่าทำแต้มพลิกกลับมานำ ทางฝ่ายซังโน ซาวาคิตะก็เป็นฝ่ายทำแต้มให้ซังโนกลับมานำอีกครั้งในช่วง 10 วินาทีสุดท้าย แล้วในที่สุดรุคาว่าก็เป็นฝ่ายส่งบอลให้ซากุรางิชู้ตลงไปในวินาทีสุดท้าย จนพลิกกลับมาชนะเลิศเข้ารอบต่อไปด้วยคะแนน 79-78 โค่นทีมเต็งหนึ่งได้สำเร็จ
หลังเกม ซากุรางิกับรุคาว่าก็หันมาแตะมือกัน ส่วนทุกคนก็ยินดีกับชัยชนะครั้งนี้และได้ถ่ายรูปลงนิตยสารบาสเก็ตบอล(แต่ก็ไม่ได้ขึ้นปก) ถึงโชโฮคุจะล้มซังโนได้ แต่ก็หยุดเส้นทางพิชิตทั่วประเทศไว้แค่นั้น เมื่อพ่ายต่อวิทยาลัยไอวะแห่งจังหวัดไอจิ หลังจากนั้น พวกปี 3 อย่าง อาคางิกับโคงุเระก็ลาออกจากชมรมไปเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย มิยางิก็เลยได้เป็นกัปตันทีมคนใหม่ ส่วนมิตซึอิซ้ำชั้นอยู่เป็นกำลังหลักของทีมโชโฮคุต่อไป ฮารุโกะเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมร่วมกับอายาโกะ รุคาว่าก็เป็นตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่น ส่วนซากุรางิไปทำกายภาพบำบัด

Zipang: สงครามนาวี การเอาตัวรอดในมิติพิศวง



ผู้แต่ง
ไคจิ คาวางูจิ
ประเภท
แอ็คชั่น-สงคราม,วางแผนกลยุทธ
รวมเล่ม
24 เล่ม
สำนักพิมพ์
วิบูลย์กิจ

สงครามเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกๆด้าน และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด นอกจากความสูญเสียทั้งกายและใจ และ สงครามโลกครั้งที่สอง จัดเป็น สงครามครั้งใหญ่ที่ถูกจารึกไว้ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหตุการณ์นึงของโลก และสะท้อนออกมาในหลายๆสื่อ ทั้งนิยาย ละคร ภาพยนตร์ ซึ่งรวมถึงการ์ตูนด้วย โดยการ์ตูนที่พูดถึงเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สองนี้ มีอยู่เพียงน้อยนิด (จริงๆอาจมีเยอะกว่าที่คิด เพียงแต่บ้านเราอาจไม่รู้จักกันเท่าไหร่) โดยหนึ่งในเรื่องที่เราจะแนะนำนี้ ก็คือเรื่อง Zipang ครับ
Zipang เป็นผลงานการแต่งของ อ.ไคจิ คาวางูจิ ผู้แต่ง ยุทธการใต้สมุทร ลงประจำใน KC TRIO บ้านเรา อีกทั้งยังเคยมีอนิเมออกฉายทาง True Visions อีกด้วย แม้ว่า Zipang นั้นก็มีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายกับ ยุทธการใต้สมุทร แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน โดยเฉพาะกันการดำเนินเรื่องที่เล่นกับเรื่องราวของ"เวลา"
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ณ ช่วงเวลายุคปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลอเมริกา ด้วยการส่งเรือลาดตระเวณรุ่นใหม่ เอจิสต์ (AEGIS) 4 ลำไประงับเหตุจลาจลที่อเมริกาใต้ ระหว่างนั้น เรือมิไร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของรุ่นเอจิสต์ ที่ พันเอกอุเมสึ ซาบุโร่ กัปตันเรือ กับ พันโทคาโดะมัตสึ โยสุเกะ รองกัปตันเรือ พร้อมลูกเรือกว่า 300 นาย กลับเจอท้องฟ้าอากาศแปรปรวนพร้อมฟ้าผ่า ซึ่งพาพวกเขาทะลุมิติย้อนเวลากลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ ปี 1942 ท่ามกลางสมรภูมิรบน่านน้ำมิดเวย์ ทำให้ลูกเรือมิไรจึงเข้าไปพัวพันกับสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพวกเขายังได้ช่วยเหลือ คุซากะ ทาคุมิ ทหารหนุ่มเครื่องบินส่งสารกองทัพเรือ และมาบังเอิญล่วงรู้ในภายหลังว่า ญี่ปุ่นพ่ายแพ้อเมริกาด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ คุซากะ ริเริ่ม" แผนก่อร่าง ซีปัง " กับการก่อตั้งอาณาจักรแห่งความเข้มแข็งยืนยาวของเขา
เสน่ห์ความสนุกของเรื่องนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้น การคิดและตัดสินใจของตัวละครท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังคับขัน โดยเฉพาะกับการอยู่ในสมรภูมิการรบซึ่งจะต้องวางแผนกลยุทธในการเอาชนะข้าศึก และ เอาตัวรอดได้ แถมในการวางแผนกลยุทธแผนใดแผนหนึ่งนั้น ก็ต้องคิดทบกันอย่างซับซ้อน เพราะ เหล่าคนที่มาจากอนาคตเหล่านั้น ตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกสุดๆ หากตัดสินใจทำสิ่งนั้นลงไป อาจส่งผลต่ออนาคตอย่างมหาศาลได้ ลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดกับพวกเขานั้น มันก็ตรงกับทฤษฎี Butterfly Effect คือ เหตุการณ์ควรจะดำเนินต่อไปในทางที่ควรจะเป็น หากลูกเรือมิไรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตภายหลังอย่างมากเลยทีเดียว (แค่ลำพังการมาอนาคตของพวกเขา ประวัติศาสตร์โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว...แถมยังไปช่วยนายคุซากะ ที่กำลังจมน้ำอีก) นอกจากนี้ยังต้องลุ้นสุดตัวกับความพยายามของมิไรการหนทางกลับไปยังยุคปัจจุบันให้ได้ โดยต้องวางแผงให้เกิดผลกระทบต่อโลกปัจจุบันให้ได้น้อยที่สุดอีกด้วย อีกทั้งเรื่องนี้ยังได้สะท้อนถึงแนวคิดระหว่างคนยุคปัจจุบัน กับ คนยุคอดีตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แล้วคนทั้งสองยุคนั้นจะประสานงาน ตอบโต้กันอย่างไร? แถมเรื่องนี้คอยย้ำแง่คิดเตือนใจอีกด้วย โดยเฉพาะกับคนในอดีตคนนึงที่ล่วงรู้เรื่องราวในอนาคตอันแสนเจ็บปวด กับการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของแผ่นดินอันเป็นที่รักของเขา จึงทำให้เขาต้องคิดแผนการซึ่งอาจมีผลต่ออนาคตอย่างใหญ่หลวง!!!! โดยไม่สนว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? โดยรวมก็เป็นการ์ตูนแนวสงครามที่ได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินดี แถมยังได้ใช้สมองคิดตามไปด้วย แต่บางฉากอาจรู้สึกตึงเครียดไปบ้าง อาจไม่ถูกใจกลุ่มคนอ่านเด็กๆซักเท่าไหร่
ลายเส้น 7.5/10เนื้อเรื่อง 9/10ความสนุกประทับใจ 8/10พิเศษ 8/10อายุที่เหมาะสม:15 ปีขึ้นไป quote:ได้ทั้งความสนุกและเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ พออ่านฆ่าเวลาว่างได้ แต่โทนเรื่องอาจมึนงง ตึงเครียด ไม่เหมาะสำหรับกลุ่มนักอ่านอายุน้อยๆบ้าง

Black & White : เพราะชีวิตจริง มีทั้งขาวและดำ



ผู้แต่ง
THE DUANG (วีระชัย ดวงพลา)
ประเภท
ดราม่า
รวมเล่ม
เล่มเดียวจบ
สำนักพิมพ์
สยามอินเตอร์ คอมิคส์

หลังจากเปิดตัวในหนังสือการ์ตูนรายเดือนเล่มหนึ่ง ก้าวข้ามมาออกหนังสือการ์ตูนเป็นของตัวเอง
Black & White ผลงานรวมเล่มชิ้นที่สามของคุณวีระชัย ดวงพลา หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนามปากกา THE DUANG นักเขียนการ์ตูนมุมมองใหม่ ที่แปลกตาในบ้านเรา
เดอะดวง เปิดตัวรวมเล่มผลงานแรกในชื่อShockolate อันประกอบมาจากการ์ตูนสั้นบ้าง ยาวบ้าง ที่ได้เขียนลงในหนังสือการ์ตูนรายเดือน และผลงานใหม่ที่เขียนมาสดๆร้อนๆ
หลังจากได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้อ่าน ไม่นานเท่าใดนัก เขาก็คลอดเล่มสอง I-am ออกมาฮือฮาอีกระลอก
เหตุใดนักเขียนไทยคนนี้ถึงได้เป็นที่นิยมไม่แพ้ หรือ มากกว่าคนอื่นน่ะหรือ
หลายคนสงสัยเมื่อมองผ่าน ลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ แถมอัปลักษณ์เมื่อเทียบกับการ์ตูนญี่ปุ่น รูปร่างอันผิดเพี้ยน และเนื้อเรื่องอันแสนจะงุนงงเหนือความคาดหมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคือจุดเด่น จุดขายของเขานั่นเอง
และเอกลักษณ์อีกอย่างของเขาก็คือ การ์ตูนใบ้ ไม่ใช่ว่าตัวละครในเรื่องจะพูดไม่ได้นะครับ แต่ไม่มีบทพูดให้อ่านต่างหาก ทว่ามันกลับสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เดอะดวง ถ่ายทอดมุมมองกลับตะเข็บของเขาผ่านปากกาและน้ำหมึกออกมางานแล้วงานเล่า ซึ่งกล่าวได้ว่า แนวคิดไม่ได้สื่อผ่านเนื้อเรื่องที่ราบรื่น หรือลายเส้นสวยงามแต่อย่างใด
หลายคนที่ยังไม่ได้อ่านงานของเขา ผมแนะนำให้ไปหามาอ่านโดยด่วน เพราะมันอาจเป็นส่วนที่ขาดไปในตัวคุณก็ได้ ผมไม่อาจจะเล่ารายละเอียดมากกว่านี้ได้...เพราะมันไม่สนุก ถ้าให้ใครเล่าให้ฟัง
(ผลงานแนะนำ : Shockolate)

Black & White ผลงานล่าสุดของเขา ได้ถ่ายทอดด้านมืดและด้านสว่างของ"โลก"ออกมา ผ่านชายไร้นามหนึ่งคนเป็นตัวเอกของเรื่อง ตัวแทนของสีขาว
เดอะดวงบรรยายความขี้แพ้ของเขาออกมามากมาย เขียนให้พระเอกนั้นแสนจะโชคร้าย พ่อแม่ตายตั้งแต่ยังเด็ก ทำมาหาทานไม่ได้ จะขอทานก็โดนรังแกทุกเมื่อเชื่อวัน แถมความแข็งแกร่งยังหาเจอได้ยาก เจอแต่ความอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นความลังเล ความกลัว ความเห็นอกเห็นใจ และความอดทน ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หรือผิดแต่อย่างใด
แต่ในโลกของเดอะดวง เขาบอกผู้อ่านว่า นั่นน่ะ ร้ายที่สุด เกินจะทนและรับได้ จึงเขียนด้านมืด สีดำออกมาอีกตัวนึง เป็นตัวละครที่มอบโอกาสให้พระเอก เงินจำนวนหนึ่ง และ ปืน เพื่อใช้เมื่อจำเป็น
เวลาผ่านไป... พระเอกเติบโตขึ้น เขายังเหมือนเดิม เป้นคนดี แต่ขี้แพ้ มรสุมชีวิตก็ยังไม่หมดไป ถูกรังแกไถเงินทุกวัน หาเช้ากินค่ำ มีชีวิตอยู่อย่างขาดแคลน
มาวันนึง ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ เมื่อสีดำ ค่อยๆเผยตัวออกมา จาหความมืด ทำลายชีวิตเขาทุกอย่าง การงาน บ้าน และครอบครัว
และท้ายที่สุด ก็สุดจะทน หากแต่ เส้นฟางที่ขาดไป กลับนำความเสียใจเข้ามาอีกหลายระรอก ต้องสะเทือนใจกับความจริงทุกอย่างรอบตัว
ปืนกระบอกหนึ่งที่ได้รับมา กระสุนหกลูกที่ไม่เคยวิ่งออกจากรังเพลิง... วันนี้ วันสุดท้ายที่ทุกอย่างจะถูกตัดสิน
ติดตามความจริงได้ใน Black & White ตามแผงหนังสือชั้นดีทั่วไป
"Because the real world is black."
"เพราะโลกจริงๆนั้นเป็นสีดำ"
ลายเส้น 6/10เนื้อเรื่อง 9/10ความสนุกประทับใจ 9/10พิเศษ 10/10 (ให้เป็นคะแนนมิติของเรื่องและตัวละครครับ)quote:การ์ตูนเรื่องนี้เหมาะกับผู้บรรลุนิติภาวะทางความคิดแล้ว(ฮา) สำหรับอ่านยามเบื่อหน่าย ด้วยเนื้อเรื่องที่วกวนน่าสงสัยชวนติดตาม ทั้งยังแฝงไปด้วยคติสอนใจบางอย่างที่คนอ่านมักมองข้ามไป"Merlangpoo "

Damons :ผสมผสานความดิบโหดและแนวคิด


แต่ง โอซามุ เท็ตซึกะ (เนื้อเรื่องดั้งเดิม)ฮิเดยูกิ โยเนฮาร่า(ภาพ) ประเภท แอ็คชั่น-ไซไฟ รวมเล่ม 10 เล่ม สำนักพิมพ์ วิบูลย์กิจ


ปี 2008 ที่ผ่านพ้นไป ถือเป็นการครบรอบ 80 ปี ของปรมาจารย์การ์ตูนญี่ปุ่น โอซามุ เท็ตซึกะ ซึ่งผลงานนับสิบชิ้นของอ.โอซามุผู้นี้ ถือเป็นต้นแบบของการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราได้สัมผัสกัน และสไตล์การวาดและการเล่าเรื่องของอ.โอซามุ ยังเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนการ์ตูนรุ่นหลังๆอีกด้วย ....จากจุดเด่นที่มีในผลงานของอ.โอซามุ นี้เอง จึงทำให้มีการ์ตูนบางเรื่องได้นำเนื้อเรื่องของอ.โอซามุไปดัดแปลงกลายเป็นการบอกเล่าเรื่องราวใหม่ๆในสไตล์ของตนเอง เช่น Pluto ของ อ.นาโอกิ อุราซาว่า ที่นำตอนนึงของ เจ้าหนูปรมาณู ไปดัดแปลงกลายเป็นเรื่องยาวที่มีมิติน่าสนใจและน่าค้นหา รวมไปถึงการ์ตูนเรื่องที่เรากำลังจะแนะนำต่อไปนี้ ที่ได้นำของผลงานของอ.โอซามุไปดัดแปลงเหมือนกัน นั่นคือเรื่อง Damons หรือ ไดมอนส์ นั่นเอง
สำหรับ ไดมอนส์ นั้น หากดูลายเส้นนั้นก็คุ้นตามาก คาดว่าคอการ์ตูนคงร้องอ๋อแน่ เพราะเป็นฝีไม้ลายมือของ อ.ฮิเดยูกิ โยเนฮาร่า ที่เคยมีผลงานคูลๆผ่านตานักอ่านบ้านเราหลายต่อหลายเรื่อง นับตั้งแต่ แสบกว่านี้มีอีกมั๊ย,จอมลุยรสช็อคโกแล๊ต,COCO เต็มพิกัด สลัดจอมลุย จนถึง Switch สำหรับเรื่องไดมอนส์นั้น อ.โยเนฮาร่า ได้หยิบเอาเนื้อเรื่องดั้งเดิมของอ.โอซามุจากเรื่อง Tetsu no Senritsu มาดัดแปลงในสไตล์ของตนเอง โดยเน้นธีมไซไฟ แอ็คชั่นเต็มพิกัดเป็นหลัก
ส่วนเนื้อเรื่องนั้นก็อิงไปตาม Tetsu no Senritsu ของอ.โอซามุ ตรงที่พระเอกนั้นแขนขาด และแขนที่ขาดนั้นถูกเปลี่ยนไปเป็นแขนเหล็ก และใช้แขนเหล็กนั้นในการไล่ล่าแก้แค้นคนที่ทำให้พระเอกต้องเจ็บปวด ไดมอนส์ก็เช่นกัน เพียงแต่อ.โยเนฮาร่าได้เล่าเรื่องในสไตล์ของตนเอง คือ เฮธ พระเอกของเรื่อง เป็นนักวิจัยของบริษัทด้านนาโนเทคโนโลยี ทว่าวันหนึ่งเฮธถูกจับได้ว่าทรยศ เขาจึงโดนผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าและเพื่อนของเขาลงโทษด้วยการตัดแขนทั้งสองข้าง แถมยังสังหารภรรยากับลูกสาวของเขาอีกด้วย (แท้จริงๆแล้ว เฮธพยายามหนีออกจากองค์กรเอง เพราะเขาพบว่า เพื่อนของเขากำลังจะนำผลงานการวิจัยใหม่ของเขา ไปใช้ในด้านการทหาร แทนที่จะช่วยเหลือมนุษย์ ) เฮธ ผู้สูญเสียแทบจะทุกอย่าง ได้รับการช่วยเหลือของศาสตราจารย์เบคเคิล ซึ่งดร.เบคเคิลผู้นี้ เป็นผู้พัฒนา เซลมอส ความสามารถที่ทำให้ผู้พิการสามารถใช้พลังจิตบังคับแขนขาเทียมได้ เขาจึงได้สร้างแขนเหล็กอันทรงพลัง เปรียบดั่งอาวุธทำลายล้างประจำตัว ให้แก่เฮธ และเฮธใช้มันในการตามล่าแก้แค้นกลุ่มคนที่พรากลูกเมียสุดที่รักของเขาไป.....
ไดมอนส์ ยังคงรักษาความมันส์เต็มเปี่ยมตามสไตล์ของอ.โยเนฮาร่า เหมือนเช่นเรื่องที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าเรื่องนี้จะเน้นฉากรุนแรงค่อนข้างเยอะ แลดูสยดสยอง กะเอาใจนักอ่านสายS (Sadistic) โดยเฉพาะ แต่ถ้าใครที่ขวัญอ่อนหน่อย ก็อย่าเพิ่งหาอะไรมากินในขณะที่กำลังอ่านเรื่องนี้ ที่สำคัญยังไงซะ เรื่องนี้คงไม่เหมาะกับกลุ่มนักอ่านอายุน้อยอย่างแน่นอน อีกทั้งพล็อตเรื่องยังเน้นธีมการตามล่า-ล้างแค้นเป็นหลัก หากไม่คิดอะไรมากก็อ่านเอามันส์ เพลินๆ เรื่อยๆ แต่ถ้าหากคิดมากก็จะพบว่าเนื้อเรื่องยังไม่มีอะไรมากนัก อาจรู้สึกเซ็ง เบื่อหน่ายไปบ้าง แต่ก็อย่าลืมว่า ผลงานดั้งเดิมแต่ละเรื่องของอ.โอซามุนั้น จะแฝงปรัชญาแนวคิดสอนใจลงไปด้วย เพระฉะนั้น เรื่องแนวคิดสอนใจนั้นคงจะปรากฏในเนื้อเรื่องช่วงหลังของไดมอนส์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น เวลาอ่านคงต้องใช้เวลาอดทนกันเสียหน่อย เพื่อรอเวลาให้เฮธรู้ซึ้งถึงการแก้แค้น ที่ไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรเลย นอกจากความเจ็บปวดกับความทุกข์ หากแก้แค้นไม่สำเร็จ ก็จะเป็นการตอกย้ำความแค้นแก่ตัวเราเพิ่มขึ้น ทำให้หนทางการแก้แค้นของเราไม่รู้จักจบจักสิ้น..........


ลายเส้น 8.5/10เนื้อเรื่อง 7/10ความสนุกประทับใจ 7/10พิเศษ 7.5/10อายุที่เหมาะสม:17 ปีขึ้นไป
quote:ใครเป็นแฟนนานุแฟนของอ.โยเนฮาร่า รวมถึงชื่นชอบผลงานของ อ.โอซามุ คงต้องเจียดตังค์หนุนกันต่อไป

Smash! :การตบลูกขนไก่ที่คละเคล้าเรื่องราวความรักของวัยรุ่น



ผู้แต่ง
คาโอริ ซากิ
ประเภท
กีฬา,ดราม่า
รวมเล่ม
4 เล่ม
สำนักพิมพ์
วิบูลย์กิจ

ปัจจุบันนี้การ์ตูนประเภทกีฬา เป็นการ์ตูนอีกประเภทหนึ่งที่คนอ่านการ์ตูนนิยม และมีอยู่จำนวนหลายเรื่อง หากจะแยกประเภทกีฬาที่นิยมเอามาเขียนเป็นการ์ตูนจริงๆ กลับมีจำนวนไม่กี่ประเภท เช่น ฟุตบอล,บาสเก็ตบอล,เบสบอล,มวย เป็นต้น แต่สำหรับคราวนี้ เราจะแนะนำการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่นำเสนอกีฬาแบดมินตั้น ที่นานๆจะมีคนกล้าเอามาแต่งเป็นการ์ตูน แถมเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันมากในละแวกบ้านเราซะด้วย ซึ่งเรื่องที่ว่านี้ก็มีชื่อเรียกสั้นๆ ง่ายๆว่า Smash นั่นเอง
Smash เรื่องนี้มีชื่อสมกับกีฬาตบลูกขนไก่ซะจริงๆ แต่ก็ไม่ได้เน้นแข่งแบดอย่างเดียว เรื่องนี้ยังได้เน้นเรื่องราวการใช้ชีวิตของวัยรุ่นควบคู่กันด้วย โดยเรื่องนี้เป็นผลงานการแต่งของ อ.คาโทริ ซากิ ลงประจำในนิตยสารโชเน็นแมกกาซีนของญี่ปุ่น และบ้านเราออกถึงเล่ม 4 ชนิดที่กว่าจะออกแต่ละเล่มก็นานแสนนานเหลือเกิน ตามสไตล์ของสนพ.นี้
Smash เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ อาสุมะ โชตะ หนุ่มผู้รักกีฬาแบดมินตั้นเป็นชีวิตจิตใจ และอยู่ชมมรแบดฯในช่วงม.ต้น ทว่า เขากลับไม่ทุ่มเทกับแบดฯเท่าที่ควร ผิดกับ มิวะ เพื่อนสมัยเด็กและเพื่อนร่วมชมรมของเขา ที่ทุ่มเทฝึกแบดฯจนเป็นถึงนักกีฬาระดับประเทศ วันหนึ่ง ระหว่างที่เขากำลังจะไปดื่มน้ำนี่เอง เขาได้พบกับ ยูฮิ สาวใบ้ปริศนาผู้หนึ่ง ในระหว่างที่ยูฮิจะฝึกซ้อมแบดฯตามลำพังอยู่นั้น โชตะ ก็เลยชวนเธอแข่งตีแบดฯกับเขา ซึ่งผลที่ออกมานั้น โชตะ พ่ายแพ้เธอยับเยิน แต่อย่างน้อยก็ทำให้ยูฮิคลายจากความเศร้าได้ ส่วนโชตะ หลังจากได้เห็นฝีมือยูฮิ ทำให้โชตะ สนใจในตัวเธอมากขึ้น และ มุ่งมั่นที่จะไล่ตามเธอผู้นี้ให้ได้ ต่อจากนั้น เขาได้พบกับ อานัน เด็กหนุ่มผู้มีความทะนงตัว และ ต้องการพิสูจน์ว่า แบดมินตั้นไม่เป็นสองรองใคร พอทั้งสองได้ดวลกัน โชตะ ได้พบกับคนฝีมือดีอีกคน ทำให้โชตะยิ่งมีความฮึดในกีฬาแบดมินตั้นยิ่งขึ้น ในที่สุด ทั้งโชตะ ,มิวะ,อานัน ต่างก็เข้าเรียนม.ปลายที่รร.โทโจ 2 ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องแบดมินตั้นได้สำเร็จ และที่นั่นเอง โชตะ ได้พบกับสาวน้อยยูฮิ อีกครั้ง พร้อมกับรู้ว่า ยูฮิคือนักกีฬาแบดฯระดับประเทศ แถมยังเป็นน้องสาวของโค้ชคิโต้ ที่เป็นโค้ชให้กับชมรมแบดฯโรงเรียนนี้ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ โชตะ มีความมุ่งมั่นฝึกซ้อมแบดฯมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อพิชิตชัยไล่ตามบรรดาคนเก่งๆให้ถึงที่สุด และนอกเหนือจากนี้ ก็ทำให้โชตะ กับ ยูฮิ มีความสนิทสนมมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม จนทำให้ มิวะ ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเด็กของโชตะ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่โชตะไม่แคร์เธอเลย......โชตะ จะพัฒนาฝีมือการตีแบดฯได้ไกลแค่ไหน และ เรื่องราวความรักสไตล์วัยรุ่นที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ จะลงเอยกันอย่างไร
สำหรับเรื่องนี้ หากใครต้องการอยากดูแอ็คชั่นมันส์ๆในการตบลูกขนไก่นั้น ขอบอกเลยว่า ให้เลิกหวังได้เลย แม้ว่าจะมีแมตช์การแข่งขันแบดมินตั้นก็เถอะ ซึ่งในฉากการแข่งขันนั้น ผู้เขียนเพียงแค่นำเสนอพัฒนาการด้านฝีมือการตีแบดฯของตัวละครมากกว่า ส่วนการแข่งขันคู่นึงก็เดินเร็วรวบรัดไปหน่อย เลยไม่รู้สึกลุ้นเท่าไหร่ แต่อย่างน้อย ผู้แต่งดูจะเน้นตรงเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่น ในแง่ของความรักที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้มากพอสมควร แถมความสัมพันธ์ของตัวละครหลักถึงดูเหมือนจะแน่นอน แต่ก็มีเหตุการณ์พลิกผันทำให้ต้องลุ้นติดตามกันต่อไป ซึ่งตรงจุดนี้ก็ยังพอได้อารมณ์โรแมนติค ดราม่า คอยช่วยทดแทนความมันส์แอ็คชั่นการแข่งขันของเรื่องนี้ที่ขาดๆไป ทำให้เรื่องนี้มีอรรถรสที่เรื่อยๆ พออ่านแก้เบื่อยามว่างได้ (แต่สงสัยจังว่า เวลาคู่หนุ่ม-สาว ทะเลาะกันทีไร ไหงดันลงเอยด้วยการกอดกันซะงั้น พอกับละครบางประเทศเลย)
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีข้อดีตรงที่ลายเส้นที่ดูสบายตา ,คาแร็คเตอร์นางเอกแหวกแนวที่ให้เป็นสาวใบ้ คอยให้กำลังใจคนอ่านที่เป็นคนพิการไม่ครบ 32 ไปในตัวด้วยเหมือนกัน,การสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตการฝึกซ้อมของคนชมรมแบดฯ ที่บ่งบอกว่า การจะเล่นแบดฯให้เก่งนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด กอปรกับแรงจูงใจที่ได้เห็นเพื่อนร่วมชมรมที่มีฝีมือแกร่งกว่า จนเกิดความมุ่งมั่นของพระเอกตามสไตล์การ์ตูนกีฬา ที่พยายามหมั่นฝึกซ้อม เพื่อที่จะเอาชนะคนเก่งกว่า เพื่อถึงจุดสูงสุดให้ได้ และ ความสามัคคี ความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะการเล่นแบดฯประเภทคู่ ที่คนในทีมต้องมีข้อนี้เยอะๆ ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งเล่นคนเดียว!!

ป.ล. หากใครจะไปหาซื้อ/เช่าเรื่องนี้ตามร้าน ขอเตือนไว้ก่อนว่า อย่าจำสับกับเรื่อง "Smash1" ที่เป็นการ์ตูนกีฬาเทนนิส ของสนพ.บงกช นะครับ !!!
ลายเส้น 7.5/10เนื้อเรื่อง 7/10ความสนุกประทับใจ 6.5/10พิเศษ 7.5/10quote:เป็นการตีลูกขนไก่เคล้าความรักแบบวัยรุ่นที่ค่อนข้างจะเรื่อยๆ ชิวๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่หากใครอยากหวังแอ็คชั่นมันส์ๆในเกมกีฬา ให้เลิกคิดไปได้เลย

ประวัติความเป็นมาของการ์ตูน


ที่มาของการ์ตูน

การ์ตูนที่เราๆท่านๆอ่านกันทุกวันนี้นั้น หากย้อนกลับไป ก็คงจะเริ่มต้นที่ยุโรป ประมาณคริสต์ศตวรรษที่13 ช่วงเรเนซองต์ ซึ่งการ์ตูนนั้นก็มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาเลี่ยน catone ซึ่งแปลว่า กระดาษผืนใหญ่ และ ในสมัยนั้นก็ยังเป็นงานศิลปะแบบเฟรสโก้(เป็นงานภาพพวกสีน้ำมัน) โดยเฉพาะผลงานของ ลีโอนาร์โด้ ดาวินซี่ และ ราฟาเอลนั้นจะมีราคาสูงมาก และจากนั้น การ์ตูนของแต่ละชาติและแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาแตกต่างกันไป จนเป็นสิ่งที่เราเห็นกัน ก็คือ มีการเดินเรื่องกันเป็นช่องสี่เหลี่ยม และมีการใส่คำพูดของ ตัวการ์ตูนในแต่ละช่องด้วย หรือเรียกกันว่า คอมิค


การ์ตูนฝรั่ง

โดยเริ่มต้น ที่ ยุโรป สมัยคริสศตวรรษที่18 โดยมีการค้นพบ ภาพร่างของการ์ตูนของWilliam Hogarth นักวาดการ์ตูนชาวอังกฤษ ในปี 1843 นิตยสารPunch ก็ได้ลงการ์ตูนล้อเลียนการเมืองของJohn Leech และถือว่า เป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสืออย่างเป็นทางการอีกด้วยซึ่งในช่วงนั้นเองการ์ตูนเสียดสีทางการเมืองเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกด้วย และจากจุดเริ่มต้นนี้เอง ก็ทำให้ประเทศอื่นๆอย่าง เยอร์มัน จีน ก็เริ่มตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนลงในสื่อต่างๆด้วย
ในปี 1884 Ally Sloper's Half Holiday ก็เป็นนิตยสารการ์ตูนเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์อีกด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่20 งานการ์ตูนก็เริ่มมีความแตกต่างจากนิยายภาพเรื่อยๆ ช่วงต้นศตวรรษที่20 ในสหรัฐฯ ก็มีการตีพิมพ์การ์ตูนลงในหนังสือพิมพ์ และรวมเล่มซึ่งจะเน้นแนวขำขันเป็นหลัก
ในปี1929 ติน ติน ผจญภัย การ์ตูนแนวผจญภัยก็ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ของเบลเยี่ยม ซึ่งตีพิมพ์ลงสีขาวดำในขณะนั้น ส่วนการ์ตูนภาพสีนั้น ก็เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกที่สหรัฐ และ The Funnies ก็จัดว่าเป็นการ์ตูนภาพสีเรื่องแรกอีกด้วย ช่วงสงครามโลกครั้งที่2นั้น คนทั่วโลกก็ปั่นป่วน สังคมก็เริ่มมีปัญหา ซึ่งทำให้มีผลต่องานการ์ตูนในยุคนั้นก็คือ จะเน้นแนวซุปเปอร์ฮีโร่ อย่างซุปเปอร์แมน เป็นต้น และในปัจจุบันนั้น การ์ตูนฝรั่งก็เริ่มที่จะมีหลากหลายแนวมากขึ้น เนื้อเรื่องมีมิติมากขึ้น รวมไปถึงเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมีการให้ทุนการศึกษาในการพัฒนาด้านการ์ตูนอีกด้วยในปี 1980
ติน ติน ผจญภัย Ally Sloper's Half Holiday ปี1884

การ์ตูนญี่ปุ่น

ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เริ่มมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่2 มังงะ(manga) เริ่มพัฒนาให้ทันสมัยและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่ง มังงะนั้น ก็เป็นการนำ อุกิโยเอะ (ภาพเขียนแบบญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นความคิดและอารมณ์มากกว่าลายเส้นและรูปร่าง) กับการเขียนภาพแบบตะวันตกมารวมกัน ซึ่งคำว่ามังงะ นั้นก็แปลตรงๆว่า ความไม่แน่นอน ซึ่งเริ่มต้นจากหนังสือโฮคุไซ มังงะ ส่วนอีกเล่มหนึ่งก็คือ งิงะ ซึ่งเป็นภาพล้อเลียนจากศิลปิน12ท่าน ซึ่งดูแล้วจะใกล้เคียงกับมังงะมากที่สุด
ภาพอุกิโยเอะ จุดเริ่มต้นของการพัฒนานั้นก็มาจากการค้าขายระหว่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น ญี่ปุ่นในขณะนั้นต้องการที่จะพัฒนาไปสู่สังคมใหม่ ก็เลยมีการจ้างศิลปินชาวตะวันตกให้เข้ามาสอนศิลปะ สไตล์ตะวันตกทั้งด้านลายเส้น สี หรือ รูปร่าง ซึ่งเป็นส่วนที่ภาพอุกิโยเอะไม่มีนั้นมารวมกัน เป็น มังงะหรือ การ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลสั่งยกเลิก การคว่ำบาตรสื่อต่างๆ ซึ่งมังงะในยุคแรกๆนั้น จะออกไปทางนิยายภาพมากกว่า หลังจากนั้น เท็ตซึกะ โอซามุ ก็เป็นผู้ที่พัฒนาการ์ตูนแบบญี่ปุ่นให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น และเป็นอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ จนได้รับการขนานนามว่า ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนญี่ปุ่น และนักเขียนการ์ตูนยุคหลังๆก็ได้พัฒนาแนวคิดของ เนื้อเรื่องไป สร้างสรร จนได้การ์ตูนเรื่องสนุกที่หลายคนชื่นชอบกัน และความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นก็แพร่กระจายความนิยมไปยัง เอเชีย ยุโรป รวมถึงอเมริกา และมีผลทำให้การ์ตูนเรื่องใหม่ๆทางฝั่งตะวันตกก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นด้วย(อย่างเช่น เรื่อง Witch เป็นต้น)


การ์ตูนไทย

ส่วนพัฒนาการของการ์ตูนไทยนั้น ก็เริ่มมาจากงานภาพวาดบนกำแพงตามวัดต่างๆ หลังจากที่ไทยเรา เริ่มพัฒนาประเทศให้เข้ากับวัฒนกรรมตะวันตกนั้นเอง การ์ตูนไทยก็เริ่มมีบทบาทที่เป็นรูปภาพประกอบเนื้อเรื่องในนิยาย หรือเรียกอีกอย่างก็คือ นิยายภาพ โดยเฉพาะการ์ตูนการเมือง ในปีพ.ศ.2500 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสือการ์ตูนไทย มีการตีพิมพ์รวมเล่มจากหนังสือพิมพ์ และ วารสาร โดยมี เหม เวชกร และ จุก เบี้ยวสกุล เป็นนักเขียนที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์เป็นการ์ตูนเล่มละบาท ซึ่งเป็นแนวสยองขวัญ ตามด้วย การ์ตูนแก๊กเน้นตลก อย่าง ขายหัวเราะ มหาสนุก หนูจ๋า และ เบบี้ ที่ยังคงขายดีจนถึงปัจจุบัน ส่วนการ์ตูนไทยตามแบบสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ก็เพิ่งจะตื่นตัวไปไม่กี่สิบปี โดยจุดเริ่มต้น มาจากนิตยสารไทยคอมิค ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และจากจุดนี้นี่เองก็ทำให้การ์ตูนไทยที่ทำท่าจะผีเข้าผีออกก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของคนอ่านมากขึ้น ในสไตล์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนแปลงจากวรรณคดี บุคคลสำคัญ ,Joe-theSeacret Agent ,มีด13,การ์ตูนเสนอมุมมองใหม่ๆอย่าง HeSheIt, นายหัวแตงโม รวมไปถึง การ์ตูนดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกและคุณทองแดง
จุก เบี้ยวสกุล He She It

ที่มาของการ์ตูนอนิเมชั่น

อนิเมชั่น ก็มีความหมายที่แปลได้โดยตรงคือ ความมีชีวิตชีวา มาจากรากศัพท์จากคำว่า anima ซึ่งแปลว่าจิตวิญญาณ หรือมีชีวิต แต่ต่อมา อนิเมชั่นก็มีความหมายตามที่เราๆท่านๆเข้าใจกันในปัจจุบันนี้ ก็คือ การสร้างภาพเคลื่อนไหวได้ หรือ ภาพการ์ตูนที่เคลื่อนไหวได้ ส่วนอนิเมชั่นในความหมายเชิงภาพยนตร์ก็คือ กระบวนการการฉายรูปเฟรมภาพออกมาทีละเฟรม หรือสร้างด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิค หรือ ทำด้วยการวาดมือ และทำซ้ำการเคลื่อนไหวทีละน้อยๆซึ่งจะแสดงทีละภาพในอัตราความเร็ว มากกว่าหรือเท่ากับ16ภาพ ต่อ 1 วินาที(ปัจจุบัน 24เฟรม ต่อ 1 วินาที --NTSC) ส่วน อนิเม ก็เป็นคำอีกคำหนึ่งที่ใช้กันบ่อยๆนั้น ก็เป็นคำที่ ญี่ปุ่น เรียกอนิเมชั่นกันแบบย่อๆ(ถ้าสังเกตกันจริง ญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่เรียกคำย่อได้ไม่เหมือนใครเลย อย่าง PC ก็เรียก ปาโซคอม ซะงั้น) แต่ต่างกับอนิเมชั่นของฝรั่ง เพราะ อนิเมชั่นจะเน้นการเล่าเรื่องมากกว่าภาพเคลื่อนไหว ความเป็นมาของอนิเมชั่นในแต่ละพื้นที่ของโลกก็มีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งแต่ละท้องที่มีพัฒนาการดังนี้

อนิเมชั่นฝรั่ง

อนิเมชั่นแต่ละเรื่องในยุคแรกๆนั้นจะดัดแปลงจากภาพยนตร์เงียบ ที่ยุโรปในปี 1908 อนิเมชั่นก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในโลก นั่นก็คือเรื่อง Fantasmagorie ของ Emile Courtet ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ส่วนภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของโลก นั่นก็คือ Satire du Pt Irigoyen ของอาร์เจนติน่า ในปี1917 และตามด้วย The Adventure of Prince Achmed
ในขณะเดียวกัน ที่สหรัฐฯ ก็มีการเริ่มต้นพัฒนาด้านอนิเมชั่นซึ่งหนังในช่วงแรกๆก็มี Koko the Clown และ Felix the Cat ในปี 1923 วอล์ท ดิสนี่ย์ ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วย

Fantasia หลังจากที่วอล์ท ดิสนี่ย์ได้กำเนิดขึ้น ก็ทำให้เกิดยุคทองหนังอนิเมชั่นของดิสนี่ย์ในช่วงระยะเวลาถึง20ปีเลยทีเดียว ในปี1928 มิกกี้ เมาส์ก็ถือกำเนิดขึ้น ตามด้วย พลูโต กู๊ฟฟี่ โดนัลด์ ดั๊ก เป็นต้น และในปี 1937 สโนว์ไวท์และคนแคระทั้ง7 ก็เป็นอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของ ดิสนี่ย์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทยอยมีอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆตามมา เช่น Pinocchio, Fantasia ,Dumbo, Bambi ,Alice in Wonderland, Peter Pan จากนั้นก็มีการตั้งสตูดิโอของ Warner Brother,MGM และ UPAในช่วงปี1960 หลังจากที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นประสบความสำเร็จ ก็ก่อให้เกิดธุรกิจอนิเมชั่นบนจอโทรทัศน์ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งการ์ตูนของดิสนี่ย์ และการ์ตูนพวกฮีโร่ทั้งหลายแหล่อย่าง ซุปเปอร์แมน แบทแมน ฯลฯ และในขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาการทำอนิเมชั่น3มิติอีกด้วย เวลาก็ได้ล่วงมาถึง ช่วงปี 1980 ภาพยนต์ของดิสนี่ย์ก็ถึงคราวซบเซา แต่ทว่าในปี 1986 The Great Mouse Detective ก็เป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลก ที่นำเอา 3D อนิเมชั่นมาใช้ด้วย ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อนิเมชั่นของดิสนี่ย์กลับมา ได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้ง Beauty and the Beast,Aladin ,Lion King ในปี1995 ภาพยนตร์อนิเมชั่น3มิติเรื่องแรกของโลก อย่าง Toy Story ก็ถือกำเนิดขึ้น และ ทำให้มีการสร้างสรรงานอนิเมชั่น3มิติอีกหลายๆงานต่อมาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึง มีการทำอนิเมชั่นเพื่อจับกลุ่มคนดูที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย อย่างเช่น The Simpsons ,South Park และมีการยอมรับอนิเมชั่นจากประเทศอื่นๆมากขึ้นอีกด้วย


อนิเมชั่นญี่ปุ่น

ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้น การพัฒนาอนิเมชั่นนั้น ก็มีประวัติศาสตร์มายาวนาน สันนิษฐานว่า น่าจะเริ่มต้นประมาณปี 1900 บนฟิลม์ขนาด35มม. เป็นอนิเมชั่นสั้นๆเกี่ยวกับทหารเรือหนุ่มกำลังแสดงความเคารพ และใช้ทั้งหมด 50 เฟรมเลย ส่วน เจ้าหญิงหิมะขาว ก็เป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกของทางญี่ปุ่น ก็สร้างในปี 1917 จนมาถึงปี 1958 อนิเมชั่นเรื่อง นางพญางูขาว(Hakujaden) ก็เป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกที่เข้าฉายในโรง และจากจุดนั้นเอง อนิเมชั่นญี่ปุ่นก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจาก

นางพญางูขาว(Hakujaden) -ปี1962 Manga Calender เป็นอนิเมชั่นทางทีวีเรื่องแรกของญี่ปุ่น -ปี1963 เจ้าหนูปรมาณู(Astro Boy) ก็เป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากมังงะ(หนังสือการ์ตูน)โดยตรง แถมเป็นอนิเมชั่นสีเรื่องแรก และเป็นเรื่องแรกที่ออกไปฉายในอเมริกา -ปี1966 แม่มดน้อยแซลลี่(Mahoutsukai Sally)ก็เป็นการ์ตูนอนิเมชั่นสำหรับเด็กผู้หญิงเรื่องแรกด้วย -ปี1967 Ribon no Kishi ก็เป็นอนิเมชั่น เรื่องแรกที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนผู้หญิง (แถมต้นฉบับก็เป็นหนังสือการ์ตูนเด็กผู้หญิงเรื่องแรกของญี่ปุ่นด้วย) -1001 Night ก็จัดว่าเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่เจาะกลุ่มคนดูเป็นผู้ใหญ่ ในปี 1969-ปี1972 Mazinga ก็เป็นจุดกำเนิดของการ์ตูนแนวSuper Robot -ปี1975 Uchuu Senkan Yamato ก็เปิดศักราชหนังการ์ตูนยุคอวกาศ จนมาถึง Mobile Suit Gundam ในปีเดียวกัน -ปี1981 ถือกำเนิด ไอด้อลครั้งแรกในวงการการ์ตูน นั่นก็คือ ลามู จาก Urusei Yatsura- อากิระ ในปี 1988 สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการอนิเมชั่นทั่วโลก -จนในปี 1995 ญี่ปุ่นกับอเมริกาก็ร่วมมือกันสร้าง Ghost in the Shell ขึ้น และมีอิทธิพลต่อการสร้างหนัง The Matrix ด้วย -ในปี1997 ฮายาโอะ มิยาซากิ ก็นำ Princess Mononoke ก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์ จนปี2003 ก็คว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่75 สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จากเรื่อง Spirited Away รวมไปถึง Dragonball ของ อากิระ โทริยามะ ก็สร้างความนิยมไปทั่วโลกอีกด้วย
Ribbon no Kishi


อนิเมชั่นไทย

พูดถึงอนิเมชั่นตะวันตกและญี่ปุ่นกันไปแล้ว ขอพูดถึงพัฒนาการของอนิเมชั่นในเมืองไทยด้วยก็แล้วกัน โดยอนิเมชั่นในบ้านเรานั้น ก็เริ่มต้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ตัวการ์ตูนอนิเมชั่นจะพบได้ในโฆษณาทีวี เช่น หนูหล่อของยาหม่องบริบูรณ์ปาล์ม ของ อ.สรรพสิริ วิริยสิริ ซึ่งเป็นผู้สร้างอนิเมชั่นคนแรกของไทย และยังมีหมีน้อย จากนมตราหมี แม่มดกับสโนว์ไวท์ของแป้งน้ำควินน่าอีกด้วยอ.เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ก็มีความคิดที่จะสร้างอนิเมชั่นเรื่องแรกในไทย แต่ก็ต้องล้มไปเพราะกฎหมายควบคุมสื่อในสมัยนั้น และ10ปีต่อมา ปี พ.ศ. 2498 อ.ปยุต เงากระจ่าง ก็ทำสำเร็จจนได้จากเรื่อง เหตุมหัศจรรย์ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์ ทุรบุรุษทุย ของ ส.อาสนจินดา หลังจากนั้นก็มีโครงการอนิเมชั่น หนุมาน การ์ตูนต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาแต่ก็ล้มเหลว เพราะเหมือนจะไปเสียดสี จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์ ผู้นำในสมัยนั้นซึ่งเกิดปีวอก ปี พ.ศ. 2522 สุดสาครของ อ.ปยุต เงากระจ่าง ก็เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของบ้านเรา และก็ประสบความสำเร็จมากพอสมควรในยุคนั้น ปีพ.ศ.2526 ก็มีอนิเมชั่นทางทีวีเรื่องแรกที่เป็นฝีมือคนไทยนั่นก็คือ ผีเสือแสนรัก ต่อจากนั้นก็มี เด็กชายคำแพง หนูน้อยเนรมิต เทพธิดาตะวัน จ่ากับโจ้ เนื่องจากการทำอนิเมชั่นนั้นต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ก็เลยทำให้อนิเมชั่นในเมืองไทยนั้นต้องปิดตัวลง
ประมาณปี2542 อนิเมชั่นของคนไทยที่ทำท่าว่าจะตายไปแล้ว ก็กลับมาฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง จากความพยายามของบ.บรอสคาสต์ไทย เทเลวิชั่น ก็ได้นำการ์ตูนที่ดัดแปลงจากวรรณคดีฝีมือคนไทย ทั้ง ปลาบู่ทอง สังข์ทอง เงาะป่า และโลกนิทาน และได้รับการตอบรับอย่างดี จนในปีพ.ศ. 2545 น่าจะเรียกว่าเป็นปีทองของอนิเมชั่น3มิติของคนไทยเลย โดยเฉพาะ ปังปอนด์ ดิ อนิเมชั่น และ สุดสาคร ซึ่งทั้ง2เรื่องก็สร้างปรากฏการณ์ในแง่ของการขายคาแร็คเตอร์ใช้ประกอบสินค้า และ เพลงประกอบ จ้ามะจ๊ะ ทิงจา ก็ฮิตติดหูด้วย รวมไปถึง การที่มีบริษัทรับจ้างทำอนิเมชั่นของญี่ปุ่นและอเมริกาหลายๆเรื่องอีกด้วย และเราก็กำลังจะมี ก้านกล้วย อนิเมชั่นของบ.กันตนา ที่กำลังจะเข้าฉายไปทั่วโลก ซึ่งเราก็หวังว่า อนิเมชั่นฝีมือคนไทย คงที่จะมีหลายเรื่อง หลากหลายแนวมากขึ้น ไม่แพ้อนิเมชั่นของฝั่งญี่ปุ่นและตะวันตกเลยทีเดียว
ปังปอนด์ ดิ อนิเมชั่น


อ้างอิงจาก
http://en.wikipedia.org